อัตราส่วนทางการเงิน เข้าใจง่าย ๆ ในโพสต์เดียว

อัตราส่วนทางการเงิน ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ งบการเงิน ทำให้เห็นภาพรวมของบริษัท และความสามารถในการทำกำไรในเชิงเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น เพราะในงบการเงินนั้น ประกอบด้วยข้อมูลมากมาย ยากต่อการตีความ

Mr.LikeStock จะแบ่งอัตราส่วนทางเงินออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  • อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน ได้แก่ D/E
  • อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร ได้แก่ GPM, NPM, ROA, ROE
  • อัตราส่วนประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ ได้แก่ AT

D/E Ratio (Debt to Equity Ratio) = รวมหนี้สิน / รวมส่วนของผู้ถือหุ้น

แสดงถึงสัดส่วนของเงินทุนจากการกู้ยืมต่อส่วนทุน โดยปกติ หากมีค่าสูง แสดงว่ามีหนี้สินเยอะ ภาระดอกเบี้ยสูง ความเสี่ยงสูง แต่ กิจการที่มีค่า D/E สูงอาจจะไม่ใช่กิจการที่มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสูงเสมอไป

GPM (Gross Profit Margin) = กำไรขั้นต้น x 100 / รายได้จากการขาย

กำไรขั้นต้น = รายได้การขาย – ต้นทุนสินค้า

แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรขั้นต้น เปรียบเทียบกับยอดขาย ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี เพราะแสดงถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนการผลิตที่ดี การแข่งขันไม่รุนแรง แต่ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรม เพราะธรรมชาติธุรกิจแตกต่างกัน อัตราส่วนนี้ยังบอกถึงคุณภาพในการเติบโตได้ด้วย

NPM (Net Profit Margin) = (กำไรสุทธิ x 100) / รายได้รวม

กำไรสุทธิ สามารถดูได้จากบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนได้เลย แต่บางครั้งกิจการมีกำไร – ขาดทุน พิเศษ ดังนั้นเราควร หักลบ บวกกลับ ให้เรียบร้อยก่อนนำมาคิด โดยปกติ อัตราส่วนนี้ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี แต่ไม่ควรเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรม เช่น Makro ธรรมชาติเน้นขายปริมาณเยอะ แต่ 7- Eleven เน้นค้าปลีก ซึ่งเป็นกิจการที่แข็งแกร่งทั้งคู่แต่มี NPM มากน้อยต่างกัน

ROA อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม = (EBIT x 100) / สินทรัพย์รวมเฉลี่ย

EBIT เป็นกำไรจากการดำเนินงาน อัตราส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลกำไรของกิจการเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด ROA สูง แสดงถึง กิจการใช้สินทรัพย์ได้อย่างมีคุณภาพ

ROE อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = (กำไรสุทธิ x 100) / ส่วนของผู้ถือหุ้นรวมเฉลี่ย

เป็นอัตราส่วนแสดงความสัมพันธ์รของกำไรกิจการเทียบกับส่วนผู้ถือหุ้น ยิ่งมีค่ามากยิ่งดี แต่ต้องระวังค่า ROE สูงๆ ที่เกิดจากหนี้สินมากๆ เพราะการมีหนี้สินมาก ยิ่งมีความเสี่ยงมากเช่นกัน ถือเป็นอีกอัตราส่วนนึงที่นักลงทุนแนว VI ชอบใช้กัน

AT (Total Assets Turnover Ratio) = รายได้รวม / สินทรัพย์รวมเฉลี่ย

เป็นการเปรียบเทียบยอดขายกับสินทรัพย์รวม แสดงถึงความคุ้มค่าในการใช้สินทรัพย์ทั้งหมดที่กิจการ มีหลักการดู ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี ซึ่ง Mr.LikeStock จะชอบใช้อัตราส่วนนี้กับกิจการที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเยอะๆ เช่น โรงพยาบาล เมื่อมีการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ยังใช้สินทรัพย์ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่หาก AT เริ่มมีสัญญาณมีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเริ่มสนใจเข้าไปลงทุน

ข้อควรระวังในการใช้อัตราส่วนทางการเงิน

1. อัตราส่วนทางการเงินที่เพื่อนๆ เปิดดูจากตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นการคำนวณจากงบการเงินโดยตรง ซึ่งรวมรายการที่ผิดปกติไว้ด้วย เช่น กำไรพิเศษ หรือ ขาดทุนพิเศษ

2. ไม่ควรเปรีบเทียบอัตราส่วนทางการเงินข้ามอุตสาหกรรม หรือกิจการที่มีลักษณะธุรกิจแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ Mr.LikeStock แนะนำให้เปรียบเทียบกิจการเดิม แต่เปรียบเทียบจากปีก่อนหน้าว่ามีค่าตัวเลขดีขึ้นหรือไม่

หวังว่าเพื่อนๆ จะได้ไอเดีย หรือเข้าใจการใช้อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อนำไปวิเคราะห์กิจการเพิ่มขึ้น หากอยากให้ Mr.LikeStock เขียนบทความอะไรเพิ่มเติมสามารถคอมเมนต์มาได้เลย

▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬

? แอด Line มีของแจก ฟรี!!!

Line id : @MrStock

? Line : https://MrStock.me/line( คลิก ที่ลิ้งก์เพื่อแอดเพื่อนได้เลย)

? คอร์ส หุ้น vi มือใหม่ ง่ายกว่าอ่านเอง รับประกัน ???

✅https://MrStock.me/vi/