อัญมณีและเครื่องประดับ ไทยส่งออกไปให้ใคร ?

อัญมณีและเครื่องประดับ ติด 1 ใน 15 อันดับแรกของสินค้าไทยที่มีการส่งออกมากที่สุด ใครคือลูกค้ารายใหญ่ มาทำความรู้จักตลาดเครื่องประดับและผลกระทบต่อเศรษฐกิจกันในบทความนี้

ในปี 2563 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 578,941.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นอันดับที่สาม รองจาก “รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ” และ “เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ”

โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2563 คิดเป็น 7.90% ของสินค้าการส่งออกทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 16.61% จากปี 2562

จากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2563 ระบุว่า ประเทศที่ซื้อเครื่องประดับจากประเทศไทย 3 อันดับแรกคือ

อันดับ 1 : สวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 38%

อันดับ 2 : สิงคโปร์ มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 22% และ

อันดับ 3 : ฮ่องกง มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้ากลุ่มนี้

ที่มา http://tradereport.moc.go.th/DashBoard/Default.aspx

อัญมณีและเครื่องประดับ

อุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับ

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้ ดังนี้

  1. อุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร และพลอย
  2. อุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับ แบ่งย่อยออกเป็น เครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม

แหล่งวัตถุดิบ

ปัจจุบันจังหวัดที่มีพอจะมีวัตถุดิบสำรองป้อนสู่กระบวนการผลิต คือ กาญจนบุรี จันทบุรี และตราด จากเดิมในอดีตที่มีอยู่หลายจังหวัด ได้แก่ แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี

วัตถุดิบส่วนใหญ่ ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจังหวัดที่เป็นตลาดซื้อขายคือ กรุงเทพฯ ตาก กาญจนบุรี และจันทบุรี

แหล่งนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่สำคัญ เช่น

เพชร: โมซัมบิก เซียร์ราลีโอน ไซบีเรีย รัสเซีย

ทอง: ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เงิน: สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เม็กซิโก จีน เปรู ชิลี โบลิเวีย อาร์เจนตินา

พลอย: อินเดีย ศรีลังกา สหภาพเมียนมาร์ โมซัมบิก มาดากัสการ์ เวียดนาม

การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ

สัดส่วนการผลิตเครื่องประดับในประเทศไทย เกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ

แรงงานด้านการผลิตเครื่องประดับของประเทศไทยมีขีดความสามารถและความชำนาญ ในด้านการเจียระไนอัญมณีและพลอย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก

การผลิตแบ่งออกเป็น การผลิตด้วยมือ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตสินค้าสำหรับตลาดบนและกลางที่มีเอกลักษณ์การผลิต

การผลิตด้วยเครื่องจักร ใช้กับสินค้าตั้งแต่ตลาดกลางลงไป และสินค้าตลาด Micro Trend

กระบวนการการผลิต เช่น การคัดแยกวัตถุดิบ การขึ้นรูป การขัดเงา การเจียระไน เป็นต้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

จาก แผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จัดทำเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจ SME วิสาหกิจชุมชน

ที่มีความสอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564

ได้กำหนดให้มีแผนรวมทั้งหมด 4 ด้าน ในอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (First S–Curve and New S-Curve) (ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ถูกจัดให้อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น และเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย)

แผนด้านที่ 1 คือ เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในทุกระดับ

แผนด้านที่ 2 คือ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก

แผนด้านที่ 3 คือ พัฒนาปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการประกอบการ

แผนด้านที่ 4 คือ บริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูง

อัญมณีและเครื่องประดับ

ความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

เนื่องด้วยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนใหญ่แล้วผลิตจากผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีหลากหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น

อุตสาหกรรมการเจียระไน อุตสาหกรรมการออกแบบ อุตสาหกรรมการผลิตและประกอบตัวเรือน และอุตสาหกรรมการทำวัสดุหีบห่อ เป็นต้น

และตัวเลขการส่งออก ยังเป็นปัจจัยเสริมให้มีการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ทำให้เกิดการจ้างงาน และมีแรงงานจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศไทย

ความเชื่อมโยงกับ การลงทุนในหุ้น

การเริ่มศึกษาจากภาพรวมของเศรษฐกิจ เช่น จากเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย นโยบายภาครัฐ และปัจจัยต่างประเทศ แล้วศึกษาต่อที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเติบโต จากนั้นค่อยไปเจาะลึกถึงตัวบริษัทนั้น ๆ เรียกว่าการ วิเคราะห์แบบ Top Down Approach

การวิเคราะห์แบบ Top Down Approach

ช่วยในการเลือกหุ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขของทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต เช่น รัฐมีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นหุ้นที่ได้ประโยชน์ อาจประกอบไปด้วย ผู้ผลิตชิ้นส่วนยนต์ แบตเตอรี่รถยนต์ สถานีอัดประจุ เป็นต้น

จากบทความนี้ ขอยกตัวอย่างหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI คือ บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JUBILE

JUBILE อัญมณีและเครื่องประดับ

หุ้น JUBILE ดำเนินธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับเพชรและเพชรกะรัต ภายใต้เบรนด์ “เพชรยูบิลลี่” ในลักษณะพื้นที่เช่าและผ่านห้างสรรพสินค้า โดย ณ สิ้นปี 2562 มีสาขาทั่วประเทศรวม 131 สาขา

บริษัทนำเข้าวัตถุดิบเพชรคุณภาพสูง จากประเทศเบลเยียม และเป็นผู้ว่าจ้างโรงงานเครื่องประดับและช่างฝีมือในประเทศ ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปสำหรับจำหน่าย ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง

อัญมณีและเครื่องประดับ

ยูบิลลี่ ผลิตเครื่องประดับทุกประเภท ได้แก่ แหวน จี้ ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล และ เข็มกลัด

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พนักงานบริษัท ผู้บริหารชั้นต้น/ระดับกลาง-สูง และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก/ใหญ่ ที่มีรายได้ เริ่มตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน

นี่ก็เป็นตัวอย่างการเลือกหุ้น โดยเริ่มจาก ภาพรวมของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และมาเจาะที่บริษัท

หากใครยังไม่รู้จะเริ่มเลือกหุ้นอย่างไร สามารถนำวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้ได้

แอด Line มีของแจก ฟรี!!!

Line id : @MrStock
? Line : https://MrStock.me/line/
( คลิก ที่ลิ้งค์เพื่อแอดเพื่อนได้เลย)

ข้อมูลอ้างอิง
http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=1&Lang=Th&ImExType=1

Admin : Kamonwan