อัญมณีและเครื่องประดับ ไทยส่งออกไปให้ใคร ?
อัญมณีและเครื่องประดับ ติด 1 ใน 15 อันดับแรกของสินค้าไทยที่มีการส่งออกมากที่สุด ใครคือลูกค้ารายใหญ่ มาทำความรู้จักตลาดเครื่องประดับและผลกระทบต่อเศรษฐกิจกันในบทความนี้
ในปี 2563 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 578,941.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นอันดับที่สาม รองจาก “รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ” และ “เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ”
โดยมูลค่าการส่งออกในปี 2563 คิดเป็น 7.90% ของสินค้าการส่งออกทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 16.61% จากปี 2562
จากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2563 ระบุว่า ประเทศที่ซื้อเครื่องประดับจากประเทศไทย 3 อันดับแรกคือ
อันดับ 1 : สวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 38%
อันดับ 2 : สิงคโปร์ มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 22% และ
อันดับ 3 : ฮ่องกง มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้ากลุ่มนี้
ที่มา http://tradereport.moc.go.th/DashBoard/Default.aspx
อุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับ
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้ ดังนี้
- อุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร และพลอย
- อุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับ แบ่งย่อยออกเป็น เครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม
แหล่งวัตถุดิบ
ปัจจุบันจังหวัดที่มีพอจะมีวัตถุดิบสำรองป้อนสู่กระบวนการผลิต คือ กาญจนบุรี จันทบุรี และตราด จากเดิมในอดีตที่มีอยู่หลายจังหวัด ได้แก่ แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี
วัตถุดิบส่วนใหญ่ ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจังหวัดที่เป็นตลาดซื้อขายคือ กรุงเทพฯ ตาก กาญจนบุรี และจันทบุรี
แหล่งนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่สำคัญ เช่น
เพชร: โมซัมบิก เซียร์ราลีโอน ไซบีเรีย รัสเซีย
ทอง: ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เงิน: สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เม็กซิโก จีน เปรู ชิลี โบลิเวีย อาร์เจนตินา
พลอย: อินเดีย ศรีลังกา สหภาพเมียนมาร์ โมซัมบิก มาดากัสการ์ เวียดนาม
การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ
สัดส่วนการผลิตเครื่องประดับในประเทศไทย เกิดจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่
แรงงานด้านการผลิตเครื่องประดับของประเทศไทยมีขีดความสามารถและความชำนาญ ในด้านการเจียระไนอัญมณีและพลอย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก
การผลิตแบ่งออกเป็น การผลิตด้วยมือ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตสินค้าสำหรับตลาดบนและกลางที่มีเอกลักษณ์การผลิต
การผลิตด้วยเครื่องจักร ใช้กับสินค้าตั้งแต่ตลาดกลางลงไป และสินค้าตลาด Micro Trend
กระบวนการการผลิต เช่น การคัดแยกวัตถุดิบ การขึ้นรูป การขัดเงา การเจียระไน เป็นต้น
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
จาก แผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จัดทำเพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจ SME วิสาหกิจชุมชน
ที่มีความสอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564
ได้กำหนดให้มีแผนรวมทั้งหมด 4 ด้าน ในอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (First S–Curve and New S-Curve) (ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ถูกจัดให้อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น และเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย)
แผนด้านที่ 1 คือ เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในทุกระดับ
แผนด้านที่ 2 คือ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก
แผนด้านที่ 3 คือ พัฒนาปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการประกอบการ
แผนด้านที่ 4 คือ บริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูง
ความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
เนื่องด้วยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนใหญ่แล้วผลิตจากผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีหลากหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น
อุตสาหกรรมการเจียระไน อุตสาหกรรมการออกแบบ อุตสาหกรรมการผลิตและประกอบตัวเรือน และอุตสาหกรรมการทำวัสดุหีบห่อ เป็นต้น
และตัวเลขการส่งออก ยังเป็นปัจจัยเสริมให้มีการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ทำให้เกิดการจ้างงาน และมีแรงงานจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศไทย
ความเชื่อมโยงกับ การลงทุนในหุ้น
การเริ่มศึกษาจากภาพรวมของเศรษฐกิจ เช่น จากเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย นโยบายภาครัฐ และปัจจัยต่างประเทศ แล้วศึกษาต่อที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเติบโต จากนั้นค่อยไปเจาะลึกถึงตัวบริษัทนั้น ๆ เรียกว่าการ วิเคราะห์แบบ Top Down Approach
การวิเคราะห์แบบ Top Down Approach
ช่วยในการเลือกหุ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขของทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต เช่น รัฐมีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นหุ้นที่ได้ประโยชน์ อาจประกอบไปด้วย ผู้ผลิตชิ้นส่วนยนต์ แบตเตอรี่รถยนต์ สถานีอัดประจุ เป็นต้น
จากบทความนี้ ขอยกตัวอย่างหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI คือ บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JUBILE
JUBILE อัญมณีและเครื่องประดับ
หุ้น JUBILE ดำเนินธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับเพชรและเพชรกะรัต ภายใต้เบรนด์ “เพชรยูบิลลี่” ในลักษณะพื้นที่เช่าและผ่านห้างสรรพสินค้า โดย ณ สิ้นปี 2562 มีสาขาทั่วประเทศรวม 131 สาขา
บริษัทนำเข้าวัตถุดิบเพชรคุณภาพสูง จากประเทศเบลเยียม และเป็นผู้ว่าจ้างโรงงานเครื่องประดับและช่างฝีมือในประเทศ ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปสำหรับจำหน่าย ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง
ยูบิลลี่ ผลิตเครื่องประดับทุกประเภท ได้แก่ แหวน จี้ ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล และ เข็มกลัด
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พนักงานบริษัท ผู้บริหารชั้นต้น/ระดับกลาง-สูง และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก/ใหญ่ ที่มีรายได้ เริ่มตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน
นี่ก็เป็นตัวอย่างการเลือกหุ้น โดยเริ่มจาก ภาพรวมของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และมาเจาะที่บริษัท
หากใครยังไม่รู้จะเริ่มเลือกหุ้นอย่างไร สามารถนำวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้ได้
แอด Line มีของแจก ฟรี!!!
Line id : @MrStock
? Line : https://MrStock.me/line/
( คลิก ที่ลิ้งค์เพื่อแอดเพื่อนได้เลย)
ข้อมูลอ้างอิง
http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=1&Lang=Th&ImExType=1
Admin : Kamonwan