สภาพคล่อง หรือ หนี้สิน ?? ข้อไหนเป็นตัวการทำ บริษัทเจ๊ง

เคยได้ยินไหมครับ “บริษัทขายดีแทบตาย สุดท้ายเจ๊ง” ซึ่งเป็นประโยคที่ดูย้อนแย้งกันในตัวเองพอสมควรเลยนะครับ แล้วก็คงเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง บางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีผลประกอบการ ขาดทุน อยู่ทุกๆปีแต่ทำไมยังสามารถดำเนินธุรกิจกันไปได้ละ? เคยสงสัยกันไหมครับ
คำตอบ คือ การขาด สภาพคล่อง หรือที่บางคนเรียกว่า เงินสดขาดมือ นั่นเอง

ผลกระทบ ต่อ กิจการ

หากบริษัทไม่จัดสรรหรือจัดหา เงินสด เพื่อเข้ามาหล่อเลี้ยงระบบให้เพียงพอ ก็จะทำให้บริษัทจำต้องเลิกกิจการไปนั่นเองครับ เพราะอย่าลืมว่าแทบทุก Action ของการดำเนินงานในบริษัทนั้นต้องใช้ เงินสด เป็นตัวขับเคลื่อนทั้งสิ้น ตั้งแต่ ซื้อวัตถุดิบ จ่ายเงินเจ้าหนี้การค้า จ่ายเงินเดือนพนักงานในแผนกต่างๆ แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้บริษัทเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง

มาหา คำตอบ ไปด้วยกันครับ

วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับว่ามี ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้บริษัทนั้น ขาดสภาพคล่อง และวิธีตรวจเช็คสภาพคล่องผ่านงบการเงินนั้นทำอย่างไร

แต่เอ๊ะ!! ต้องดูผ่านงบไหนละเพราะมีตั้ง 3 งบ แล้วยังจะมีรายการมากมายในแต่ละงบอีก วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยไปพร้อมๆกันครับ

ปัจจัยที่ทำให้กิจการเกิดการขาด สภาพคล่อง

1. เงินสดน้อย สภาพคล่อง โบกมือบ๊ายบาย

สภาพคล่อง

เงินสด ถือเป็นสิ่งสำคัญในกิจกาจที่ต้องมีการจัดสรรอย่างรอบคอบให้เพียงพอเพื่อใช้หมุนเวียนในการดำเนินงาน

ถ้าเกิดกิจการมี เงินสด ไม่เพียงพออาจทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง จนต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาเสริมในจุดนี้ หากบริษัทไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะมีอีกหลายๆความเสี่ยงตามมา

แต่การถือเงินสดไว้มากเกินไปก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ เสียโอกาสในการนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร เพราะการถือไว้เฉยๆสร้างผลตอบแทนน้อยกว่า

2. ลูกหนี้เยอะ เสี่ยง สภาพคล่อง หด

สภาพคล่อง

การขายของแล้วเก็บเงินได้เลยคงเป็นความไฝ่ฝันของทุกบริษัท เช่น ค้าปลีก ที่ขายของแล้วได้รับเงินสดเลย

แต่ส่วนมากของกิจการนั้นมักมีการให้สินเชื่อการค้า แล้วบันทึกลงในรายการที่มีชื่อว่า “ลูกหนี้การค้า”

หากบริษัทมีส่วนนี้มากจนเกินไป ก็แสดงว่าบริษัทขายของแล้วยังไม่ได้เงิน แม้จะมาในรูปแบบของ รายได้ แล้วก็ตาม

ยิ่งหากบริษัทโดนผิดนัดชำระจาก ลูกหนี้การค้า เยอะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดการขาดสภาพคล่องมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าการขายของให้ ลูกค้า ผ่านการให้สินเชื่อการค้านั้น เงินสด ของกิจการย่อมไปจมอยู่ในส่วนนี้

จึงเป็นหน้าที่ของ นักลงทุน ที่จะต้องตรวจสอบว่ารายการ “ลูกหนี้” บวมไปรึเปล่า มีคุณภาพหรือไม่(ดูจากหมายเหตุ) และบริษัทมีวงจรเงินสด (Cash Cycle) เหมาะสมหรือไม่ หากเทียบกับกิจการที่คล้ายๆกัน

3. สินค้าคงเหลือเยอะเงินสดจม สภาพคล่อง หาย

สินค้าคงเหลือ ที่แสดงใน งบแสดงฐานะทางการเงิน หากมีรายการนี้มีเยอะไปก็อาจตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า บริษัทขายของไม่ออกหรือเปล่า ซึ่งนั้นแปลว่าบริษัทไม่มี รายได้ ที่จะได้มาซึ่ง เงินสด

ความเสี่ยงต่อมา หลังจากสินค้าขายไม่ออกเป็นเวลานานๆ คือ การเกิด การด้อยค้าสินค้า หรือภาษาเราๆเรียกว่า สินค้าหมดอายุนั่นเอง หากเกิดกรณีนี้ขึ้น เลิกคิดถึงเงินสดที่จะเข้ามาได้เลย

จึงเป็นอีกรายการที่นักลงทุนควรตรวจสอบว่า สินค้าคงเหลือ ในขณะนั้นสมดุลกับยอดขายหรือไม่ หรือในกรณีบริษัทอาจจะตุนสินค้าไว้เพื่อขายในจำนวนมากเพื่อขายช่วง High Season

4. หนี้สินเยอะไป ไม่ดีต่อ สภาพคล่อง นะ

หนี้สิน เป็นรายการที่กระทบต่อสภาพคล่อง ของบริษัทโดยตรง เพราะยิ่งมีหนี้สินมากเท่าไหร่ บริษัทก็ต้องยิ่งจ่ายดอกเบี้ยสูงเป็นเงาตามตัว

ถึงแม้บางบริษัทที่มีการกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเข้ามา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทุก ๆปี แต่หากเกิดวิกฤติเช่น โควิด-19 ในปัจจุบัน ธนาคาร มีนโยบายการปล่อยเงินกู้ที่เข้มงวดขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงสูงที่กิจการจะเกิดการขาดสภาพคล่องและเลิกกิจการในที่สุด

นักลงทุนจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในส่วนนี้ และตรวจสอบว่าบริษัทมี หนี้สินเยอะเกินตัวรึเปล่า? นำเงินกู้ที่ได้มาใช้ตรงกับวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือไม่?

โดยต่อมาเรามาดูวิธีการตรวจสอบการใช้เงินของกิจการว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ?? มีสภาพคล่องในกิจการสูงหรือต่ำ ?? ผ่าน งบกระสบเงินสด กันเถอะ

1.กำไรในงบ กำไร-ขาดทุน เป็นเงินสดจริง บ้างหรือเปล่า

งบที่ต้องพิจารณา คือ งบกระแสเงินสดในการดำเนินงาน

  • งบกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน จะทำให้ทราบเกี่ยวกับรายการที่เข้ามา กระทบเงินสดของกิจการจริงๆ ขอเน้นว่า จริงๆ เช่น ค่าเสื่อม ไม่ได้เป็นตัวเงินจริงๆจึงต้องบวก (+) กลับเข้าไป
  • กำไรพิเศษ หากเป็นกำไรที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงานจริงๆ ก็จะ หักออก (-)
  • การเพิ่มขึ้น-ลดลง ของสินทรัพย์ และหนี้สิน ก็สามารถดูในงบนี้ได้เช่นกัน

2. มีการลงทุนอะไรใหม่ๆหรือไม่

งบที่ต้องพิจารณา คือ งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน

เราจะพอสันนิษฐานได้ว่า หากงบในส่วนนี้เป็น บวก (+) จากการขายสินทรัพย์ดำเนินงานเพื่อมาเติมเต็มสภาพคล่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวดีๆของบริษัทอย่างแน่นอน

3.แอบไปก่อหนี้มาหรือเปล่า

งบที่ต้องพิจารณา คือ งบกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหา

หากบริษัทมี หนี้มาก เพราะ ต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัทก็คงไม่เป็นการดีสักเท่าไหร่ในระยะยาว เพราะสิ่งที่ตามมาคือดอกเบี้ยที่สูงเป็นเงาตามตัว หากรายการนี้เป็น บวก (+) ติดต่อกันนานๆคงไม่ดีนัก

อยากทำความรู้จัก งบกระแสเงินสด ให้ลึกซึ้งขึ้น คลิก

เพียงเท่านี้เราก็พอจะทราบได้ถึงสภาพคล่อง ของบริษัทในช่วงเวลานั้นๆ และเงินสดในมือเพียงพอในการดำเนินงานของบริษัทหรือไม่

แอด Line มีของแจก ฟรี!!!

Line id : @MrStock
? Line : https://MrStock.me/line/
( คลิก ที่ลิ้งค์เพื่อแอดเพื่อนได้เลย)