ซื้อหุ้นคืน คืออะไร เปรียบเทียบ ข้อดี ข้อเสีย ข้อควรระวัง และจุดสังเกตในงบการเงิน
ซื้อหุ้นคืน คือ การที่บริษัทจดทะเบียนนำเงินสดไปซื้อหุ้นจากนักลงทุน เพื่อแก้ปัญหาการมีสภาพคล่องส่วนเกินหรือปัญหาที่ผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม
ทำไมบริษัทต้อง ซื้อหุ้นคืน
การซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) จะช่วยให้บริษัทสามารถ
1. ปรับโครงสร้างทางการเงินได้ จากการที่มีกำไรสะสม หรือ เงินสด มากเกินความจำเป็นที่บริษัทต้องใช้ บริษัทจึงเลือกนำเงินนั้นมาซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนที่อยากขาย
Tips: บริษัทสามารถเลือกที่จะนำเงินสดไปใช้ทำอย่างอื่นได้นอกจากการซื้อหุ้นคืน
เช่น การจ่ายปันผล การขยายกิจการ เป็นต้น
2. แก้ปัญหาเมื่อผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียง หรือสิทธิในการรับเงินปันผล
วิธีการ ซื้อหุ้นคืน มี 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1. หากบริษัทต้องการซื้อหุ้นคืนเพื่อ ปรับโครงสร้างทางการเงิน สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1.1 ซื้อผ่านตลาดหลักทรัพย์
1.2 เสนอซื้อเป็นการทั่วไป (General Offer: GO)
วิธีที่ 2. หากบริษัทต้องการซื้อหุ้นคืนเพื่อ แก้ปัญหาเมื่อผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทำได้โดยการส่งแบบคำเสนอซื้อหุ้นคืนให้กับนักลงทุน และให้นักลงทุนแจ้งความประสงค์ขายหุ้นให้กับบริษัท
การเปลี่ยนแปลงในงบการเงิน
การซื้อหุ้นคืน จะเเสดงการเปลี่ยนแปลงในงบการเงินดังนี้
ฝั่งสินทรัพย์ — เงินสดจะ ลดลง
ฝั่งส่วนของผู้ถือหุ้น — ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว (จำนวนหุ้น) จะ ลดลง
ทำให้สมการทางบัญชี “ดุลกันพอดี“
ผลกระทบจากการ ซื้อหุ้นคืน
เชื่อมมาจาก หัวข้อการเปลี่ยนแปลงในงบการเงิน ย่อหน้าด้านบน จะส่งผลให้
1. ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ลดลง ซึ่งส่งผลต่อไปยัง อัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ (ROE) จะเพิ่มขึ้น
2. กำไรต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น เนื่องจาก จำนวนหุ้นลดลง ทำให้ตัวหารลดลง และตามสูตร ของ EPS ทำให้ได้ค่ามากขึ้น และเมื่อ EPS เพิ่มขึ้น P/E (อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ) ก็จะ ลดลง
3. ปันผล เพิ่มขึ้น เนื่องจาก จำนวนหุ้นลดลง ทำให้ตัวหารลดลง เช่นเดียวกับ EPS
4. ในระยะสั้น ส่วนใหญ่ตลาดจะคิดว่า ราคาหุ้นอาจจะขึ้น เพราะว่าเป็นการนำเงินจากรายใหญ่ (บริษัทนั่นเอง) เอาเงินไปไล่ซื้อหุ้น
การซื้อหุ้นคืน ไม่ได้มีผลถาวร
ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะกำหนดให้ เมื่อบริษัททำการซื้อหุ้นคืนสำเร็จแล้วในแต่ละครั้ง
ให้นำหุ้นที่ซื้อคืนในครั้งนั้น กลับเข้าไปขายให้หมดภายใน 3 ปี แต่จะขายได้ก็ต่อเมื่อถือหุ้นที่ซื้อคืนนั้นมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว
ถ้าบริษัทไม่นำกลับมาขาย หรือ ขายคืนไม่หมด บริษัทต้องดำเนินการ ลดทุนชำระเเล้ว ลง
โดยราคาที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด มีดังนี้
ราคาซื้อคืน ≤ 115% ของราคาปิดเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายล่าสุด
ราคาขายคืน ≥ 85% ของราคาปิดเฉลี่ย 5 วันทำการซื้อขายล่าสุด
ในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อบริษัทประกาศออกมาว่าจะทำโครงการซื้อหุ้นคืน แต่ต่อมา บริษัทก็สามารถยกเลิกโครงการได้
หมายความว่า เมื่อประกาศออกมา ไม่จำเป็นต้องทำตามนั้นเสมอไป ซึ่งนักลงทุนควรต้องติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ
ข้อดี
- ทำให้ตัวเลข ROE, EPS และเงินปันผล เพิ่มขึ้น
- อาจเป็นสัญญาณจากผู้บริหารว่า ราคาหุ้น ต่ำเกินไป และบริษัทมีความมั่นใจในกิจการ จนถึงขนาดซื้อหุ้นตัวเองกลับคืนมา
ข้อเสีย
- ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E มีค่าสูงขึ้น
- บริษัทเลือกที่จะไม่นำเงินไปขยายกิจการ ซึ่งอาจส่งผลให้การเติบโตในอนาคตช้าลง
ข้อควรระวัง
เนื่องจาก การซื้อหุ้นคืน ทำให้ ROE EPS และเงินปันผล เพิ่มขึ้น หากเราอ่านงบการเงินแล้วดูแค่ว่าตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยไม่สืบต่อว่าเพิ่มมาจากอะไร
ถ้าสาเหตุที่เพิ่ม มาจากการซื้อหุ้นคืน ก็ไม่ได้สะท้อนผลการดำเนินงานของกิจการ สักเท่าไร ซึ่งเราควรจะให้ตัวเลขเหล่านั้นเพิ่มเพราะความสามารถของกิจการมากกว่า
แอด Line มีของแจก ฟรี!!!
Line id : @MrStock
? Line : https://MrStock.me/line/
( คลิก ที่ลิ้งค์เพื่อแอดเพื่อนได้เลย)
Admin : Kamonwan