PE Band และ PBV Band

การประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ PE นั้นสามารถหาค่า PE ที่เหมาะสมได้หลายวิธี

แต่การใช้วิธี PE Band ทำให้ทราบกรอบการเคลื่อนไหวของค่า PE รู้โซนถูกแพง

การประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้ PE Band และ PBV Band

หลักการและที่มา

แต่ละบริษัทจะมีความเฉพาะตัวไม่เหมือนกันทำให้มีค่า PE ที่เหมาะสมต่างกัน
ถึงจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแต่ก็เก่งไม่เท่ากัน มีธรรมชาติต่างกัน

ดังนั้น จึงมีการนำค่า PE ที่บริษัทนี้เคยเทรดในอดีตมาเป็นส่วนประกอบในการหาค่า PE ที่ควรจะเป็น

หากบริษัทยังทำธุรกิจแบบเดิม เติบโตไม่ต่างกับเดิมมาก หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยยะสำคัญเกินไป
การที่ราคาหุ้นขึ้นลงตามภาวะตลาดทำให้ค่า PE เปลี่ยนไปด้วย

จึงนำค่า PE ในอดีตมาสร้างเป็นกรอบการเคลื่อนไหวของ PE

หุ้นบริษัทเดิมมีทั้งช่วงถูก และ แพง

ตอนที่หุ้นแพงยังไม่ใช่โอกาสซื้อที่ได้เปรียบ
ตอนที่หุ้นถูกมีแต้มต่อในการซื้อ และคุ้มค่ากว่า

กรอบการเคลื่อนไหวของค่า PE

จะนำหลักสถิติมาใช้ประกอบ

1. ต้องหาค่าเฉลี่ย (Mean) ของค่า PE ที่บริษัทนี้เคยเทรดในอดีต

2. หาค่า S.D. (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Diviation)

ค่านี้บอกถึงการแกว่งออกจากค่าเฉลี่ยว่ามากหรือน้อย
ภาษาชาวบ้านคือ ยิ่งค่า S.D. มาก ค่า PE จะมีกรอบกว้าง

ค่าในอดีตอาจจะย้อนหลัง 3-5 ปี ตามความเหมาะสม

เราจึงนำ 2 ค่านี้มาเป็นสร้างเป็นกรอบการเคลื่อนไหวของค่า PE
โดยนำค่าเฉลี่ย มา เพิ่มและลดกับค่า S.D. 2 ระดับ ดังในภาพ

 

(จาก https://www.quora.com/What-is-meant-by-one-standard-deviation-away-from-the-mean)

 

เช่น บริษัท A ค่าเฉลี่ย PE = 20 และค่า S.D. = 3

กรอบของค่า PE จะเป็นดังนี้

+2 S.D. = 26
+1 S.D. = 23
Mean = 20
-1 S.D. = 17
-2 S.D. = 14

ทำให้เราพอรู้ว่า จุดไหนเป็นช่วงแพงและจุดไหนเป็นช่วงถูก

เช่น หากหุ้นตัวนี้เทรดที่ PE 25 ถือว่าอยู่ในโซนแพง ยังไม่ใช่จุดซื้อที่ได้เปรียบ

และถ้าหุ้นตัวนี้เทรดที่ PE 16 ถือว่าอยู่ในโซนถูก คุ้มค่ายิ่งขึ้น (ถ้าพื้นฐานไม่เปลี่ยน)

คำถามคือ ทำไมต้อง 2 S.D. ?

ก็เพราะระยะห่างจากค่าเฉลี่ยไปอีก 2 S.D. จะครอบคลุมข้อมูลทั้งหมด 95%

ซึ่งมากพอที่การเคลื่อนไหวของราคาจะอยู่ในกรอบนี้
(คล้ายกับหลักการของ Bollinger band ในสายเทคนิคอล)

หากราคาหลุดกรอบนี้ออกไป ก็เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น

สำคัญ

ถ้าราคายื่นบริเวณ +2 S.D. แล้วจะซื้อบอกถือยาวเป็น VI ผมว่าช้าไปแล้ว
เป็นจุดที่แพงมากแล้ว แต่อารมณ์ตลาดตอนนั้นอาจจะดีมากๆ จนเคลิ้มอยากซื้อก็ได้
(ในเคสที่บริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนะครับ)
หากรอซื้อยิ่งเป็นช่วงที่ลงมาต่ำๆ ก็ยิ่งถูก แต่จะลงมาถึงหรือไม่ก็อีกเรื่องนะครับ

แล้วทำไมไม่ใช้ 3 S.D. ไปเลย?

(เพราะครอบคลุมข้อมูลถึง 99.7%)

หากใช้ 3 S.D. ค่า PE จะอยู่ในระดับที่สูงจนเกินไปในกรอบบน ยิ่งแพงไปกันใหญ่

ก่อนนำไปใช้ขอบอกข้อควรระวังสักหน่อย

PE Band และ PBV Band นั้นไม่ได้เหมาะกับทุกหุ้นนะครับ

แต่เหมาะกับบริษัทประเภท Blue Chip หรือบริษัทที่ใหญ่หน่อย

ประเภทที่มีนักลงทุนสถาบันติดตามเยอะๆ เพราะหากหุ้นนี้ราคาแพงหรือถูกกว่าที่ควรจะเป็นจะมีแรงซื้อขายเข้ามา เลยมักจะอยู่ในกรอบ PE Band

ค่านี้หาได้จากที่ไหน

1. ตามบทวิเคราะห์ อาจจะมีมาให้

2. สร้างขึ้นมาเอง

https://www.facebook.com/mr.likestock/videos/สร้าง-pe-band-อย่างง่าย/1216841598449465/

ผมทำคลิปแสดงวิธีหาอย่างละเอียดไว้ในเพจให้แล้วครับ
(ฝากกดไลค์ ให้ด้วยครับ ขายของหน่อย 555)


คราวนี้มาดูตัวอย่างบ้างดีกว่าครับ

(เป็นข้อมูลในอดีต)

กรณีศึกษา หุ้น CPALL (ข้อมูลย้อนหลังประมาณ 5 ปี)

มี PE Band ดังนี้

ค่าเฉลี่ย 34.98 หากเกินกว่านี้ไปมากๆ จะเป็นโซนแพง

ดังในกราฟราคาจะเห็นว่าตอนที่ขึ้นไปทำยอดสุด

PE เกือบ 40 เท่า เลยโซน +1 S.D. ขึ้นไปอีก

และตอนลงมา ก็เกือบแตะที่ -2 S.D. ซึ่งเป็นกรอบล่าง

แล้วควรมารอซื้อกรอบล่างเลยดีมั๊ย

คำตอบคือ ไม่มีใครรู้ครับว่าหุ้นจะลงได้ถึงแค่ไหน

บางทีก็ลงถึงกรอบล่าง หรือ ทะลุลงไปอีกก็ได้

แต่อย่างน้อยก็พอให้ทราบว่าโซนไหนที่ซื้อแล้วปลอดภัยกว่า

และโซนไหนที่ควรระวังมากๆ ในการซื้อ

แต่ต้องอย่าลืมศึกษาปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วยเสมอ ย้ำเลยนะครับเพราะหุ้นอาจมีเซอร์ไพส์ได้เสมอ ครับ


ของแถม ขอดู SET ณ ตอนนี้

(2019-02-10) ว่าแนวรับอยู่แถวไหน ?

หากเป็นดัชนี SET ขอใช้ PBV Band ดูแทน

เพราะค่า PE ของ SET ผันผวนได้ง่ายตามผลประกอบการหุ้นตัวใหญ่ เช่น กลุ่ม ปตท.

SET มี PBV Band ดังนี้ (กราฟล่าง)

รอบล่าสุดทำจุดต่ำสุดไว้ที่ 1,546 ใกล้บริเวณ -1.5 S.D.

ณ ปัจจุบันปิดวันศุกร์ที่ 8 ก.พ. 62 ที่ 1,651.68 จุด

ขาขึ้น (ต้านบน)

มีจุดวัดใจแรกบริเวณ -0.5 S.D. ที่ประมาณ 1,680 (+- สัก 10 จุด)

ขาลง (รับล่าง)

แนวรับแรก บริเวณ -1.5 S.D. ที่ประมาณ 1,555 จุด (+- สัก 10 จุด)

หากกรณีลงลึกๆ แนวรับวัดใจบริเวณ -2 S.D. ที่ประมาณ 1,500 จุดกลมๆ

แถวนี้ควรต้องยืนอยู่ หากไม่อยู่แสดงว่าอาจมีเซอร์ไพส์ เหตุการณ์ที่เราไม่รู้ก็เป็นได้


แนวทางการใช้ PE Band และ PBV Band ก็ประมาณนี้

สิ่งที่ต้องเข้าใจอีกอย่างว่า ถ้าเลือกช่วงเวลามาไม่เท่ากัน ก็ได้กรอบคนละตัวเลข

ดังนั้น อย่าไปยึดถือมาก ให้ไว้เป็นโซนพอได้รู้ว่าแถวนี้ แพง หรือ ถูก

และสิ่งสำคัญ อย่างลืมดูปัจจัยพื้นฐานประกอบเสมอ


สนใจศึกษาการอ่านงบการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่

ขอขอบคุณครับ

Mr.LikeStock